Thursday, April 15, 2010

ตลาดรถไทยร้อนยอดโต54%-ฟอร์ดลงทุน2หมื่นล้าน



ตลาดรถไทยร้อนแรงฉุดไม่อยู่ ตัวเลขยอดขายปรับเพิ่มทุกเดือน ปิดไตรมาสแรกทะลุ 1.66 แสนคัน เติบโตถึง 54% จนเริ่มมองไกลประเมินภาพรวมตลาดถึง 6.5 แสนคัน จากเดิมคาด 6.1 แสนคัน หากปัญหาการเมืองจบเร็ว ส่งผลไม่เพียงตลาดสดใส ไทยยังได้รับมั่นใจให้เป็นฐานการผลิตระดับโลก ปลายเดือนเม.ย.นี้ “ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี” เตรียมประกาศตั้งโรงงานแห่งใหม่ในไทย มูลค่าลงทุนร่วม 2 หมื่นล้านบาท โดยไม่มีมาสด้าเข้ามาเอี่ยวเหมือนที่ผ่านมา เพื่อผลิตเก๋ง “ฟอร์ด โฟกัส” โดยเฉพาะ        รายงานข่าวจากกลุ่มผู้ประกอบการ รถยนต์ญี่ปุ่น หรือเจซีซี(JCC) และสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า จากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นกล้าใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลตลาดรถยนต์ในไทยช่วงไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปี 2553 นี้ มียอดขายจำนวนกว่า 1.66 แสนคัน เทียบกับปีที่ผ่านมาช่วงเดียวกันขยายตัวประมาณ 54%
      
       ทั้งนี้หากพิจารณาแต่ละเดือนจะพบว่า โดยในเดือนมกราคมมีจำนวนกว่า 4.94 หมื่นคัน เดือนกุมภาพันธ์ทำได้ 5.41 หมื่นคัน และเดือนมีนาคมยอดขายขยายตัวเป็นกว่า 6.3 หมื่นคัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ปรับตัวเพิ่มต่อเนื่อง แม้จะมีปัญหาทางการเมืองวุ่นวายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์มาจนถึงปัจจุบันก็ตาม
      
       นายวิเชียร เอมประเสริฐสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า การเมืองมีผลกระทบน้อยกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากไม่เกิดความรุนแรงจนส่งผลกระทบมากๆ และจากภาพรวมเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงเดือนมีนาคม ถือว่ามีอัตราการเติบโตไปได้ด้วยดี จึงทำให้ผู้บริโภคยังคงมีความเชื่อมั่นและจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง
      
       “เมื่อดูปัจจัยบวกต่างๆ แล้ว และหากปัญหาการเมืองคลี่คลายโดยเร็ว คาดว่าถึงสิ้นปีตลาดจะเติบโตได้เหนือกว่าเป้าหมายที่เคยประเมินไว้ 6.1 แสนคัน และอาจจะถึง 6.5 แสนคัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะมีปัญหาในเรื่องของกำลังการผลิตรถยนต์ที่มีอยู่ใน ปัจจุบัน จะสามารถตอบสนองการเติบโตดังกล่าวได้หรือไม่ นับเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด”
      
       สำหรับยอดขายรถยนต์ในช่วงไตรมาสแรก นับว่ามีการขยายตัวในทุกประเภท โดยเฉพาะปิกอัพ 1 ตัน ที่ตกลงเป็นอย่างมากในปีที่ผ่านมา แต่มาปีนี้ตลาดกลับฟื้นมาอีกครั้ง ด้วยการทำตัวเลขที่กว่า 7.74 หมื่นคัน เพิ่มมากถึง 56% เช่นเดียวกับกลุ่มรถอเนกประสงค์แบบเอสยูวีและพีพีวี ทำได้ทั้งหมดกว่า 1.18 หมื่นคัน เติบโต 67% หรือหากเฉพาะตลาดรถพีพีวีทำได้ถึง 9.2 พันคัน ปรับเพิ่มจากปีที่แล้ว 69%
      
       ในส่วนของรถยนต์นั่ง หรือเก๋ง นับว่าเป็นตลาดที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเก๋งแบบซับคอมแพ็กต์ยังคงเป็นตลาดที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถทำยอดขายได้มากกว่า 3.4 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 43.5% ซึ่งโตโยต้า วีออส ทำยอดขายได้มากสุด 1.2 หมื่นคัน ทางด้านมาสด้า2 ที่เพิ่งเปิดตัวทำตลาดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา สามารถรักษาความร้อนแรงไว้ได้ จนปิดไตรมาสแรกของปีนี้ทำยอดขายแซงหน้า ฮอนด้า แจ๊ซ คว้าตำแหน่งผู้นำตลาดรถซับคอมแพ็กต์ 5 ประตู หรือแฮ็ทช์แบ็ก ด้วยจำนวนยอดขายกว่า 3.49 พันคัน
      
       ทั้งนี้คาดว่าตลาดเก๋งจะขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อล่าสุดนิสสันได้แนะนำ “มาร์ช” รถยนต์ภายใต้โครงการอีโคคาร์สู่ตลาดเป็นรายแรก ด้วยราคาเริ่มต้น 3.75- 5.37 แสนบาท ทำให้ภายหลังจากแนะนำสู่ตลาดเพียงไม่กี่สัปดาห์ สามารถทำยอดจองจากผู้บริโภคชาวไทยไปแล้วกว่า 8 พันคัน
      
       จากความร้อนแรงของตลาดรถยนต์ไทย และความพร้อมต่างๆ ในการรองรับ จนปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของบริษัทรถยนต์จากทั่วโลก ล่าสุดมีรายงานข่าวจากฟอร์ด มอเตอร์ส คัมปะนี ตัดสินใจจะลงทุนตั้งโรงงานแห่งใหม่ในไทย มูลค่าการลงทุนร่วม 2 หมื่นล้านบาท โดยจะประกาศการลงทุนอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้
      
       สำ หรับฟอร์ดที่ตัดสินใจลงทุนในไทย นอกจากปัจจุบันเป็นฐานการผลิตประจำภูมิภาคอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นการลงทุนร่วมกับมาสด้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ในการตั้งโรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ หรือเอเอที(AAT) 2 แห่ง โรงงานแรกผลิตปิกอัพฟอร์ด เรนเจอร์ และมาสด้า บีที-50 ส่วนอีกแห่งที่เพิ่งเปิดโรงงานเพื่อผลิตรถยนต์นั่งมาสด้า2 และฟอร์ด เฟียสต้า
      
       อย่างไรก็ตาม ภายหลังมาสด้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ได้ซื้อหุ้นใหญ่คืนจากฟอร์ด ทำให้การดำเนินธุรกิจเริ่มแยกจากกันชัดเจน ดังนั้นเมื่อฟอร์ดมีโครงการผลิตรถยนต์ระดับโลก โมเดลเดียวผลิตทำตลาดทั่วโลก ด้วยการกระจายฐานผลิตประจำอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ประกอบกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ(BOI) ได้เปิดประเภทกิจการประกอบรถยนต์ประเภทใหม่ขึ้น เพื่อจูงใจให้บริษัทรถย้ายฐานการผลิตจากประเทศอื่นมายังไทย
ฟอร์ด โฟกัส ใหม่
       โดยบีโอไอได้กำหนดเงื่อนไขการลงทุน อาทิ ต้องลงทุนสร้างสายการผลิตรถประเภทใหม่ ที่ไม่เคยผลิตในไทยมาก่อน ปริมาณการผลิต 1 แสนคันต่อปี ภายใน 5 ปีแรกของการผลิต และมีมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท(ไม่รวมที่ดินและเงินหมุนเวียน) เพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ คล้ายๆ กับโครงการอีโคคาร์ ยกเว้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์
      
       จาก ความสอดคล้องดังกล่าว จึงทำให้ฟอร์ดตัดสินใจลงทุนในไทย จึงได้มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอเมื่อปีที่แล้ว เพื่อผลิตรถยนต์ ฟอร์ด โฟกัส โฉมใหม่ ที่เป็นโมเดลระดับโลก รองรับการทำตลาดในไทยและส่งออกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยกเว้นประเทศจีน และอินเดีย ที่ฟอร์ดได้ประกาศลงทุนไปแล้ว แต่รองรับเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น
      
       โดยการประกาศลงทุนในไทยครั้ง ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ลงทุนเองทั้งหมด ไม่ได้ร่วมทุนกับมาสด้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่นเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งเดิมเตรียมจะประกาศการลงทุนเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่เกิดปัญหาเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ของกลุ่มเหมราช ที่ฟอร์ดจะใช้สร้างโรงงานแห่งใหม่ ติดปัญหากฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับกรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตะพุด จึงได้เลื่อนการประกาศลงทุนไปก่อน
      
       จนกระทั้งเมื่อเดือนมีนาคมที่แล้ว เรื่องพื้นที่สร้างโรงงานใหม่ของฟอร์ดสามารถแก้ปัญหาได้แล้ว จึงเตรียมประกาศลงทุนเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมี อลัน มูลัลลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี จะบินมาแถลงข่าวลงทุน แต่ติดปัญหาเรื่องการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดง จึงได้เลื่อนมาประกาศปลายเดือนเมษายนที่จะถึงนี้

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์